ปฏิเสธไม่ได้ว่า ในยุคปัจจุบัน นอกจากคุณภาพและราคาของสินค้า สิ่งหนึ่งที่ผู้ประกอบการ และเจ้าของแบรนด์สินค้าต่างต้องแข่งขันกันอยู่เสมอก็คือเรื่องของการทำการตลาดในรูปแบบต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการโปรโมตสินค้า หรือการออกแบบผลิตภัณฑ์ให้น่าสนใจ เพื่อดึงดูดสายตาให้กับผู้ที่พบเห็น ซึ่งก็มีสถิติที่ยืนยันว่า ฉลากและแพ็กเกจสินค้าที่ตกแต่งด้วยเทคนิคพิเศษสามารถสร้างความน่าสนใจและทำยอดขายได้มากกว่า สินค้าที่ไม่ได้มีการตกแต่งใดๆ บนแพ็จเกจจิ้งเลย*
*Aradhna Krishna, Luca Cian, Nilufer Aydinoglu: “Sensory Aspects of Package Design” and FSEA: “The Impact of High-Visibility Enhancements on Shelf Presence”
วันนี้เราขอชวนผู้ประกอบการมารู้จักกับ เทคนิคการปั๊มฟอยล์ ซึ่งเป็นเทคนิคพิเศษที่จะช่วยเพิ่มความแตกต่าง พร้อมกับช่วยยกระดับงานพิมพ์ของคุณให้ดูพรีเมียมยิ่งขึ้น มาดูกันว่าเทคนิคนี้คืออะไร และมีข้อดีที่น่าสนใจอย่างไรบ้าง
‘การปั๊มฟอยล์’ คืออะไร?
การปั๊มฟอยล์ (Foiling) คือ หนึ่งในเทคนิคพิเศษที่นิยมนำมาใช้กับงานพิมพ์ โดยเป็นการนำฟอยล์มาเคลือบทับลงบนพื้นผิวต่าง ๆ เช่น นามบัตร การ์ด ฉลาก สติกเกอร์ แพ็คเกจจิ้งสินค้า เพื่อให้บริเวณที่ต้องการดูมีความแวววาวและเป็นมันเงา ซึ่งจะช่วยให้งานพิมพ์ดูโดดเด่นและสามารถดึงดูดสายตาผู้ที่พบเห็น ทั้งยังเป็นการเพิ่มมูลค่าให้งานพิมพ์นั้น ๆ ดูมีความพิเศษและหรูหรามากขึ้น โดยสามารถแบ่งเทคนิคการปั๊มฟอยล์ได้เป็น 2 ประเภทดังนี้
การปั๊มฟอยล์แบบดั้งเดิม (Hot Foil)
เทคนิคแบบดั้งเดิมนี้เป็นการใช้แม่พิมพ์ที่มีความร้อนสูงรีดฟอยล์ลงบนกระดาษ โดยเริ่มจากการทำให้แม่พิมพ์ร้อนได้ที่ และใช้ฟอยล์วางลงไปยังบริเวณที่ต้องการ จากนั้นความร้อนจะค่อย ๆ ละลายให้เนื้อฟอยล์เคลือบทับลงไปบนผิวกระดาษตามรูปร่างของแม่พิมพ์ ทำให้บริเวณนั้น ๆ ดูสวยงามแวววาวตามสีของฟอยล์ ซึ่งสีที่มักได้รับความนิยมมากที่สุดก็คือการปั๊มฟอยล์ทองและฟอยล์เงินนั่นเอง
การปั๊มฟอยล์แบบดิจิตอล (Digital Foil)
เทคนิค Digital Foil คือการเคลือบฟอยล์ สีสันต่างๆ เฉพาะในบริเวณที่ต้องการ โดยไม่อาศัยความร้อนและใช้แม่พิมพ์ จึงสามารถเคลือบชิ้นงานได้อย่างรวดเร็ว ยืดหยุ่น และประหยัดต้นทุนได้มากกว่า เทคนิคการปั๊มฟอยล์แบบดิจิตอลแบ่งออกเป็น 2 ประเภทด้วยกัน ได้แก่
1. การปั๊มฟอยล์แบบมาตรฐาน คือ การเคลือบฟอยล์ลงบริเวณที่มีการเคลือบลามิเนต หรือพื้นที่ที่กำหนดไว้
2. การปั๊มฟอยล์แบบนูน คือ การใช้น้ำยาวานิชกำหนดความหนา และเคลือบฟอยล์ลงในตำแหน่งที่ต้องการ
โดยเทคนิคนี้ยังสามารถเคลือบลงบนพื้นผิววัสดุได้หลากหลาย และเก็บรายละเอียดบนพื้นที่เล็ก ๆ เช่น เส้นกราฟิก ตัวหนังสือ ได้ง่าย จึงตอบโจทย์งานพิมพ์ได้หลายประเภทกว่าเทคนิคแบบดั้งเดิม
ความแตกต่างของการปั๊มฟอยล์แบบดั้งเดิมและแบบนูน
การปั๊มฟอยล์แบบดั้งเดิม
ข้อดี
- เพิ่มลูกเล่นให้ชิ้นงานดูมีมิติมากขึ้น
- ได้งานพิมพ์ที่มีความคมชัดและคงทน
ข้อควรคำนึง
- ต้องใช้เวลารอให้เครื่องร้อนก่อนทุกครั้งจึงเริ่มงานได้
- ต้องสร้างเพลทใหม่ทุกครั้งที่พิมพ์
- หากผลิตจำนวนน้อยชิ้นต่อครั้งอาจไม่คุ้มทุน
การปั๊มฟอยล์แบบนูน
ข้อดี
- เป็นการเคลือบเฉพาะจุด ไม่ใช้ความร้อน จึงไม่มีรอยปั๊มให้เห็นด้านหลัง
- กำหนดความนูนของฟอยล์ได้ตามต้องการ** เก็บรายละเอียดได้สวย ให้ชิ้นงานที่ดูเนี้ยบ ไม่เหลื่อม และได้ Texture ที่พิเศษ
- รองรับการทำเทคนิค Over Print หรือการพิมพ์ตัวหนังสือ ลวดลาย กราฟิกทับบนบริเวณที่เคลือบฟอยล์ เพื่อเพิ่มมิติ และความสวยงามให้งานพิมพ์
- ต้นทุนต่ำกว่าเทคนิคแบบดั้งเดิม เพราะไม่จำเป็นต้องใช้แม่พิมพ์
ข้อควรคำนึง
- ต้องใช้ความระมัดระวังในการกำหนดค่าและตำแหน่งการเคลือบในไฟล์อาร์ตเวิร์ค เพื่อป้องกันการเคลือบที่คลาดเคลื่อน
**สำหรับการปั๊มฟอยล์ดิจิตอลแบบนูน โดยขึ้นอยู่กับประสิทธิภาพของเครื่องเคลือบและเทคโนโลยีที่ใช้งาน
เชื่อว่าข้อมูลเหล่านี้ จะช่วยให้ผู้ประกอบการและเจ้าของแบรนด์สินค้า ได้รู้จักกับเทคนิคการปั๊มฟอยล์มากขึ้น ซึ่งสามารถนำมาใช้สร้างความแตกต่าง และเสริมความพรีเมียมให้กับตัวสินค้าได้อย่างไม่รู้จบ และในบทความหน้า ห้ามพลาด! เราจะพาทุกคนไปเจาะลึกกันว่า เทคนิคการปั๊มฟอยล์ดิจิตอลแบบนูน จะสามารถนำไปปรับใช้กับงานพิมพ์ประเภทใดได้บ้าง รอติดตามไอเดียดีๆ กันได้เลย
สำหรับท่านใดที่สนใจเพิ่มเทคนิคการเคลือบฟอยล์บนงานพิมพ์แล้วล่ะก็ วาฬปริ้นท์ เราคือผู้เชี่ยวชาญด้านการผลิตสิ่งพิมพ์แบบครบวงจร เราให้
บริการออกแบบการ์ดและบัตรเชิญด้วยเทคนิคพิเศษที่จะช่วยเพิ่มมูลค่าให้งานของคุณได้อย่างเหนือชั้น สามารถปรึกษาเราได้เลยวันนี้ แล้วทุกดีไซน์ของคุณจะกลายเป็นจริงได้ที่ วาฬปริ้นท์
ติดต่อเราที่ โทร. 065-950-6347 หรือ
LINE วาฬปริ้นท์พร้อมให้บริการ