รวมศัพท์พื้นฐานง่ายๆ ที่จะช่วยคุณสั่งงานพิมพ์แบบมืออาชีพ
รวมข้อมูลดี ๆ ก่อนสั่งพิมพ์งานกับโรงพิมพ์
หากใครที่มีประสบการณ์ในการสั่งงานพิมพ์มาก่อน คงเคยเจอกับคำศัพท์ที่ไม่คุ้นหู จนบางครั้งก็แอบปวดหัว เพราะไม่เข้าใจกับคำศัพท์เหล่านั้น ถ้าอย่างนั้นเรามาทำความรู้จักกับความรู้พื้นฐานด้านการพิมพ์เอาไว้สักหน่อยกันดีกว่า จะได้เข้าใจและสามารถพูดคุยกับโรงพิมพ์ หรือร้านพิมพ์ได้อย่างมั่นใจ แต่จะมีข้อมูลหรือคำศัพท์ด้านการพิมพ์แบบไหนที่ควรรู้กันบ้าง ตามไปดูกันเลย
คำศัพท์พื้นฐานของการสั่งพิมพ์งาน
อาร์ตเวิร์ก (Artwork)
อาร์ตเวิร์ก คือ ต้นฉบับไฟล์งานที่ออกแบบเสร็จสมบูรณ์ พร้อมสำหรับการส่งพิมพ์ โดยจำเป็นจะต้องมีรายละเอียดที่จำเป็นสำหรับการพิมพ์ที่ครบสมบูรณ์ ไม่ว่าจะเป็น ขนาดของชิ้นงาน เส้นขอบระยะตัดตก (Bleed)1 ฟอนต์ และการกำหนดสีที่ใช้พิมพ์ เพื่อให้งานพิมพ์ออกมาสมบูรณ์แบบตรงตามความต้องการ ซึ่งส่วนมากแล้ว จะนิยมเซฟงานเป็นไฟล์ PDF เพราะเมื่อพิมพ์ออกมา งานพิมพ์ที่ได้จะมีรายละเอียดครบถ้วน คุณภาพสูง คมชัด และที่สำคัญ ฟอนต์ไม่หาย ไม่กระโดด นอกจากนี้ยังมีอีกหลากหลายนามสกุลให้เลือกเซฟกันตามการใช้งาน เช่น AI, PSD, INDD, JPEG, TIFF เป็นต้น
1 เมื่อพิมพ์เสร็จแล้ว จะต้องมีการตัดขอบชิ้นงานตามขนาดที่ต้องการ เราจึงจำเป็นต้องเผื่อระยะความคลาดเคลื่อนของการตัดกระดาษไว้ด้วย ทั่วไปจะอยู่ที่ด้านละ 3 มม.
ไดคัท (Die cut)
การไดคัท เป็นการตัดขอบกระดาษให้เป็นรูปทรงตามที่ต้องการ ขึ้นอยู่กับการออกแบบ โดยการตัดนั้น ไม่ใช่แค่เพียงตัดเป็นสี่เหลี่ยมธรรมดา แต่สามารถตัดตามที่ออกแบบได้ ไม่ว่าจะเป็น ไดคัทรูปดาว ไดคัทมุมมน ไดคัทวงกลม เป็นต้น เพื่อสร้างความสวยงาม โดดเด่น และดูน่าสนใจให้กับผู้พบเห็น
แกรม (Gram Per Square Metre : gsm)
แกรม คือ น้ำหนักกรัมต่อกระดาษ 1 ตารางเมตร เช่น กระดาษ 180 แกรม คือ กระดาษขนาด 1 ตารางเมตร ที่มีน้ำหนัก 180 กรัม เป็นต้น โดยทั่วไปแล้ว ยิ่งจำนวนแกรมมาก กระดาษก็จะยิ่งหนาขึ้น เช่น กระดาษ A4 ทั่วไป จะมีความหนา 80 แกรม ถ้าเรานึกภาพไม่ออก ว่าใบปลิว 160 แกรม หรือการ์ดเชิญ 240 แกรม หนาประมาณไหน ก็ลองนำกระดาษ A4 มาซ้อนกัน 2 ถึง 3 แผ่น ก็จะทราบความหนาได้นั่นเอง
ปรู๊ฟ (Proof)
สำหรับการปรู๊ฟ เป็นการตรวจสอบความถูกต้องของชิ้นงานก่อนเริ่มพิมพ์จริง เพื่อป้องกันความผิดพลาดของงานพิมพ์ที่อาจจะเกิดขึ้นระหว่างพิมพ์ชิ้นงาน ไม่ว่าจะเป็น คำสะกด เนื้อหา สีสัน ความคมชัด การพับ การจัดเรียงหน้า การเข้าเล่ม ระยะตัดตก
การพิมพ์ 4 สี
หากได้ยินโรงพิมพ์หรือร้านพิมพ์พูดถึงคำ ๆ นี้ ไม่ได้หมายความว่า โรงพิมพ์จะสามารถพิมพ์ได้แค่เพียง 4 สี แต่ในความจริงแล้ว หมายถึงแม่สีที่ใช้ในการพิมพ์ ได้แก่ CMYK (Cyan (ฟ้า) Magenta (แดงอมม่วง) Yellow (เหลือง) และ Key (ดำ) ซึ่งสามารถนำมาผสมกันให้เกิดสีอื่นๆ ได้ตามความต้องการ โดยหนึ่งสิ่งสำคัญที่ต้องรู้ก็คือ ก่อนการส่งพิมพ์ทุกครั้ง จำเป็นที่จะต้องเช็กค่าสี CMYK ให้เรียบร้อย ไม่เช่นนั้นอาจทำให้สีผิดเพี้ยนไปได้
ประเภทของกระดาษและความแตกต่าง
กระดาษปอนด์
สำหรับกระดาษปอนด์นั้นจะเป็นกระดาษเนื้อเรียบสีขาว นิยมใช้ในงานพิมพ์หนังสือ มีความทึบแสง สามารถดูดซึมหมึกได้ดี เขียนติดได้ง่ายทั้งปากกาและหนังสือ มักใช้สำหรับงานพิมพ์หนังสือ จดหมาย
กระดาษอาร์ต
กระดาษเนื้อแน่นที่ผ่านกรรมวิธีการเคลือบเพื่อให้ผิวสัมผัสเรียบ โดยแบ่งเป็นการเคลือบเงา และด้าน เหมาะสำหรับผลิตงานพิมพ์ที่ต้องการเพิ่มมูลค่าและความพรีเมียม เนื่องจากเนื้อกระดาษมีคุณสมบัติดูดซับหมึกพิมพ์ได้ดี ทำให้งานพิมพ์มีสีสันที่ใกล้เคียงกับไฟล์ต้นฉบับ โดยสามารถเลือกใช้กับงานพิมพ์ได้หลากหลายตามความต้องการ เช่น แผ่นพับ ใบปลิว โปสเตอร์ ป้ายห้อยสินค้า และหนังสือ เป็นต้น
กระดาษคราฟต์
กระดาษคราฟต์ คือ กระดาษที่ผ่านกระบวนการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เนื่องจากมีการใช้สารเคมี และสีฟอกขาวที่น้อยกว่ากระดาษทั่วไป นอกจากนี้กระดาษยังมีสีออกน้ำตาล เมื่อนำไปใช้ในการผลิตงานพิมพ์ต่างๆ เช่น ป้ายห้อยสินค้า การ์ดเชิญ หรือนามบัตร ก็ดูให้ความรู้สึกรักษ์โลกไปอีกแบบ
เทคนิคพิเศษ
เคลือบเงา/ด้าน
สำหรับการเคลือบเงา/ด้านนั้น เป็นการเคลือบด้วยแผ่นฟิล์ม เพื่อสร้างความรู้สึกที่โดดเด่นและน่าสนใจให้กับชิ้นงาน ซึ่งการเคลือบเงานั้นจะช่วยให้ชิ้นงานมีความโดดเด่น มันวาว และทำให้ภาพดูสว่างขึ้นกว่าเดิม ซึ่งเมื่อเคลือบแล้วจะช่วยป้องกันรอยขีดข่วนขนแมวและการเสียดสี ส่วนการเคลือบด้าน เป็นการเคลือบชิ้นงานที่ช่วยลดการสะท้อนของแสงที่ตกกระทบบนชิ้นงาน ทำให้มีความด้าน ดูหรูหรา และทำให้ภาพที่เห็นมีความซอฟต์มากขึ้น
สปอตยูวี
การเคลือบสปอตยูวี เป็นการเคลือบเงาในบางจุดของชิ้นงานที่ต้องการเน้นความโดดเด่น ไม่ว่าจะเป็นโลโก้ ตัวอักษร หรือภาพ เป็นต้น ซึ่งจะทำให้เห็นชัดมากยิ่งขึ้น ผิวสัมผัสจะยังคงความเงาเอาไว้ด้วย
ฟอยล์
การปั๊มฟอยล์จะเป็นการปั๊มฟอยล์สีที่ผ่านความร้อนลงบนชิ้นงาน เพื่อเพิ่มความน่าสนใจและเพิ่มมูลค่าให้กับงานสิ่งพิมพ์ ทั้งสีทอง เงิน เขียว แดง เป็นต้น
ปั๊มนูน ปั๊มจม
การปั๊มนูนและปั๊มจมนั้นเป็นการขึ้นรูปกระดาษให้นูนหรือให้ลึกลงไปเพื่อให้ได้รูปลักษณ์ตามแบบที่แม่พิมพ์กดทับนั่นเอง และเพื่อให้กระดาษดูมีมิติมากขึ้น ช่วยเพิ่มความสวยงามและความโดดเด่นให้กับชิ้นงานนั้น ๆ
หากคุณต้องการที่จะสั่งงานพิมพ์ในรูปแบบต่าง ๆ แต่ไม่มั่นใจว่าอาร์ตเวิร์กที่ทำไปนั้นมีข้อมูลครบถ้วนหรือไม่ สามารถสอบถามทีม วาฬปริ้นท์ ได้ทันที เพราะเราสามารถแนะนำเพื่อให้คุณได้งานพิมพ์ที่ตรงใจที่สุด นอกจากนี้คุณยังสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับงานพิมพ์ได้โดยตรง เพราะเรามีทีมงานผู้เชี่ยวชาญคอยให้คำปรึกษาในด้านต่าง ๆ โดยติดต่อเราที่โทร. 065-950-6347 หรือ LINE คลิก วาฬปริ้นท์พร้อมให้บริการ